สถาปัตยกรรม

นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นด้วยการรวมเอาลักษณะการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (แบบแผนของการออกแบบปราสาทของอาณาจักร) เข้ากับแบบผังของอาคารในสมัยหลังที่มีการทำระเบียงคดล้อมจุดศูนย์กลาง การก่อสร้างนครวัดยังได้บ่งบอกให้ทราบว่าปราสาทยังมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับท้องฟ้าเนื่องด้วยองค์ประกอบบางส่วนของตัวปราสาท นัยยะดังกล่าวคือในบริเวณด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งระเบียงภายในได้มีการออกแบบให้เชื่อมต่อเข้าหากันโดยปราศจากสิ่งกำบัง ส่งผลให้ปราสาททั้งสองทิศตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นช่วงวันอายัน ปราสาทแห่งนี้คืออาคารที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยปรางค์ประธานตรงกลางทั้งห้านั้นเป็นสัญลักษณ์แทนถึงยอดห้ายอดของภูเขา ส่วนกำแพงแต่ละชั้นและคูน้ำนั้นก็แทนถึงเขาสัตบริภัณฑ์และมหาสมุทร แต่เดิมพื้นที่ส่วนบนของปราสาทนั้นถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงมาโดยตลอด ผู้ที่เป็นฆราวาสจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่บริเวณส่วนล่างของปราสาทเท่านั้น
นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทเขมรหลังอื่นในเรื่องของการวางทิศประธานที่หันไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นทิศตะวันออก ความต่างนี้ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมไปถึงมอริส เกรซ และ ยอร์ช เซเดส์) ออกมาสรุปว่าพระเจ้าสุริยวรรมันนั้นประสงค์ที่จะสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นให้เป็นปราสาทที่เก็บพระบรมศพของพระองค์ แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานอื่นๆ ที่ได้จากการศึกษาภาพสลักนูนต่ำที่เรียงลำดับเรื่องราวในทิศทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งต่างไปจากเทวสถานฮินดูทั่วไป โดยพิธีกรรมต่างๆ ของพราหมณ์ในพิธีพระบรมศพก็ยังจัดขึ้นแบบย้อนลำดับอีกด้วย นักโบราณคดี ชาร์ล ไฮแฮม ยังได้อธิบายถึงภาชนะชิ้นหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ โดยภาชนะนี้ถูกขุดขึ้นมาจากปรางค์ประธานตรงกลางโดยบุคคลบางกลุ่มได้เสนอแนวคิดที่ว่าปรางค์ประธานตรงกลางนั้นเหมาะสมที่สุดในการทำพิธีจัดการกับพระบรมศพ เพราะเชื่อกันว่าเปรียบเสมือนศูนย์รวมของพลังอำนาจทั้งปวง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนได้ระบุว่าปราสาทหลายหลังในเมืองพระนครเองก็ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียมเสียหมด และได้เสนอว่าการที่นครวัดมีการวางทิศเช่นนี้ก็เพราะปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตก
เอเลนอร์ แมนนิกกาได้นำเสนอการตีความนครวัดในแบบที่แตกต่างออกไป โดยได้วิเคราะห์จากการวางทิศ มิติของอาคาร และจากลำดับการเล่าเรื่องและเนื้อหาของภาพสลักนูนต่ำ เธอได้แย้งว่า ปราสาทแห่งนี้ได้อ้างถึงยุคสมัยใหม่แห่งความสงบสุขในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 โดยได้ระบุว่า “เนื่องจากมีการคำนวณวงจรเวลาการขึ้นของพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนครวัด ภาพเทพเทวดาผู้อยู่ในอาณัติของการปกครองจึงได้ปรากฏอยู่บนตัวเรือนธาตุและเฉลียง สื่อความหมายถึงปกปักษ์ให้อำนาจของกษัตริย์เป็นนิจนิรันดร เป็นการเฉลิมพระเกียรติและสร้างความสงบแก่เหล่าเทวดาที่ประทัพอยู่บนสรวงสวรรค์” ข้อเสนอของแมนนิกกานั้นได้มอบทั้งความสนใจและข้อแคลงใจในแวดวงวิชาการ  ธอได้ฉีกหนีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการคนอื่นๆ อาทิ แกรแฮม แฮนคอก ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่านครวัดนั้นคือสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงกลุ่มดาวมังกร
นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม
ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่นๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา 
ภาพนครวัดจากมุมมองด้านข้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที่ตั้ง

ชื่อเป็นทางการ : เมืองพระนคร (Angkor)  ที่ตั้ง : จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) กัมพูชา ปีที่ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2535 ตั้งอยู่ในเมืองพร...